แน่นอนว่าเราคงไม่เข้าใจการทำงานของผู้รับเหมา เเต่การทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนอย่างมีระบบ และเป็นลายลักษณ์อักษรก็ช่วยให้คุณในฐานะคนที่จ้างงานเบาใจไปได้เยอะ เพราะความเชื่อใจอย่างเดียวคงไม่พอ ถ้าเจอผู้รับเหมาที่ดีก็ดีไป แต่ถ้าเจอผู้รับเหมาไม่ดี นอกจากจะต้องมานั่งเสียใจภายหลังแล้ว ยังอาจเกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย
อย่าให้บ้านในฝันต้องขึ้นอยู่กับเรื่องของดวงเลย เพราะบ้านเป็นอะไรที่สำคัญมากทีเดียวนะ เป็นสถานที่ที่เราต้องฝากชีวิตไว้ด้วยอีกนาน มารู้ทันผู้รับเหมาด้วยขั้นตอนการเลือกผู้รับเหมาที่ควรรู้ก่อนสร้างบ้านกัน
1. ทำสัญญาว่าจ้าง
การทำสัญญาว่าจ้าง หรือสัญญาอะไรก็ตามกับผู้รับเหมา ควรทำให้ละเอียดเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อเป็นการยืนยัน ไม่ควรใช้ปากเปล่า หรือแค่เพียงสัญญาใจในการสั่งงานหรือจ้างงาน เพราะถ้าหากผู้รับเหมาทำมาผิดจากที่ตกลงกันจะได้มีหลักฐานไว้สำหรับยืนยันกับผู้รับเหมาเพื่อให้ทำการรับผิดชอบให้เป็นไปตามสัญญานั่นเอง
2. เลือกผู้รับเหมาที่มีความน่าเชื่อถือ
ควรเลือกผู้รับเหมาที่มีผลงานชัดเจนเป็นสิ่งปลูกสร้างให้เห็น ไม่ใช่เพียงแค่คำพูดลอย ๆ หรือแค่กระดาษแผ่นเดียวแล้วบอกว่าเคยผ่านโครงการเหล่านี้มา เพราะอาจจะถูกหลอกลวงจากแก๊งต้มตุ๋นได้ ถ้าเป็นไปได้ควรจ้างผู้รับเหมาเฉพาะค่าแรง
3. ทำบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคา (Bill of Quantities/B.O.Q.)
บัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคา ประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ คือ
- ลำดับที่ของรายการ
- รายละเอียดของงานแต่ละประเภท
- ปริมาณงาน (จำนวน)
- หน่วยในการวัดเพื่อการจ่ายเงิน
- อัตราราคาต่อหน่วย (อาจแยกเป็นราคาค่าวัสดุ และค่าแรงงาน) ของแต่ละรายการ
- ราคารวม
- หมายเหตุ (หากจำเป็น หรือต้องการ)
หน้าที่และความสำคัญของบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคาที่ใช้ในงานก่อสร้าง นั่นก็เพื่อแสดงองค์ประกอบรายละเอียดของงานต่าง ๆ ใช้แสดงปริมาณงานและหน่วยที่ใช้ในการวัดและจ่ายเงิน แสดงราคาของงานแต่ละประเภท เพื่อเปรียบเทียบราคาของผู้เข้าประกวดราคา และเป็นราคาฐาน
สำหรับงานเพิ่มเติมในโครงการนั้น ๆ และที่สำคัญใช้เพื่อการเบิกจ่ายเงิน (Payment) หรือการเบิกจ่ายเงินบางส่วนในระหว่างการก่อสร้าง (Interim Payment)
4. วางแผนการจ่ายเงิน
ในสัญญาควรมีกำหนดระยะเวลาและขั้นตอนในการจ่ายเงินให้ชัดเจนว่างานผ่านไปกี่เปอร์เซ็นต์จะจ่ายอย่างไรเพื่อไม่ให้ถกเถียงกันตอนหลัง และควรทำเป็นลายลักษณ์อักษรให้รับทราบทั้งสองฝ่ายด้วย
ถ้าผู้รับเหมาขอเบิกเงินค่างวดล่วงหน้าหรือมีข้ออ้างว่าเงินไม่พอจะซื้อวัสดุทำให้ก่อสร้างต่อไม่ได้ ผู้ที่เป็นผู้ว่าจ้างไม่ควรใส่ใจ และไม่ควรใจอ่อนเพราะตอนที่ผู้รับเหมาประเมินงานผู้รับเหมาต้องมีเงินพร้อมสำหรับการก่อสร้างอยู่แล้ว
ถ้าผู้รับเหมาไม่มีเงินแล้วอ้างเหตุผลต่าง ๆ มากมาย แสดงถึงความไม่เป็นมืออาชีพ รวมถึงเป็นสัญญาณให้ผู้ว่าจ้างพึงระวังพฤติกรรมของผู้รับเหมาเจ้านี้
5. แบ่งจ่ายเป็นงวด ๆ
โดยเริ่มจ่ายจากมัดจำเพียง 10% ก่อน เพื่อดูการทำงานความเชี่ยวชาญ และความเป็นมืออาชีพผู้รับเหมาก่อน อีกทั้งการจ่ายเงินให้แก่ผู้รับเหมาควรแบ่งจ่ายออกเป็นหลาย ๆ งวด
นั่นก็เพื่อไม่ให้เงินที่จ่ายในแต่ละครั้งเยอะจนเกินไป เป็นแรงจูงใจให้ผู้รับเหมาเร่งทำงาน ไม่เก็บรายละเอียดให้ดี และที่สำคัญหลีกเลี่ยงปัญหาผู้รับเหมาทิ้งงานนั่นเอง
6. ทำงานเป็นขั้นเป็นตอน
เช็กด้วยว่าผู้รับเหมาได้ทำงานเป็นไปตามกำหนดเวลาที่ได้วางไว้หรือไม่ ถ้าช้าก็ควรถามว่าเพราะอะไร ทำไมถึงช้า ติดปัญหาอะไร เพื่อเป็นการอัปเดตความคืบหน้าไปด้วยในตัว จะได้ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่เสร็จตามกำหนด
7. ตรวจเช็กความคืบหน้าของงาน
เป็นสิ่งที่สำคัญมากส่วนหนึ่งที่ผู้ว่าจ้างควรจะเข้าไปตรวจดูงานที่ผู้รับเหมาทำบ่อย ๆ เพื่อให้งานเป็นไปตามกำหนดที่วางไว้ และไม่ให้ผู้รับเหมาทำงานออกนอกลู่นอกทาง อีกทั้งยังเป็นวิธีการป้องกันการโกงวัสดุก่อสร้างผิดจากที่ตกลงกันไว้
การเข้าไปดูงานก็ควรเข้าไปแบบสุ่มเวลา หรือมีเวลาก็แวะไปดู ทั้งนี้ก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจของเราอีกด้วย แต่ก็ไม่ควรไปยุ่งวุ่นวายนะครับ เพราะมันเสียเวลาคนทำงาน
8. ตรวจรับงาน
ถ้าหากเป็นโครงการขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ควรจ้างผู้เชี่ยวชาญ วิศวกร ที่ปรึกษา มาช่วยในการคุมงานเพราะจะเข้าใจในเรื่องการก่อสร้างมากกว่า แต่ถ้าหากไม่อยากเสียเงินจ้างก็เลือกผู้รับเหมาให้ดี หรือให้คนที่รู้จักที่มีความรู้มาตรวจให้ก็ได้ การที่มีสัญญาและรายละเอียดจะทำให้เราสามารถตรวจสอบได้ง่ายขึ้นนั่นเอง ตัวอย่างบ้าน
เรื่องบ้านเป็นเรื่องใหญ่ และความเข้าใจลำดับขั้นตอนในการทำงาน หรือจัดซื้อจัดจ้าง เป็นเรื่องที่สำคัญที่ผู้จ้างควรจะรู้ก่อนที่จะจ้างงานกับผู้รับเหมาสักรายเพื่อสร้างบ้านให้เรา และเพื่อไม่ให้เกิดการทุจริตกินเล็กกินน้อยจากผู้รับเหมา ที่แอบดูดเงินในกระเป๋าคุณจนหมด
รวมทั้งเพื่อให้ได้บ้านในฝันออกมาตรงตามสเปกที่เราต้องการ ดีกว่ามาแก้กันตอนท้ายที่ทั้งเสียเงิน เสียใจ และเสียเวลา แล้วจะหาว่าไม่เตือน